Rates

วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

การใช้คำพูดด้านบวกกับตัวเอง (Auto-Suggestion)

การใช้คำพูดด้านบวกกับตัวเอง (Auto-Suggestion) 

   เรามักจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าในแต่ละขณะ แม้เราจะไม่ได้กำลังพูดออกมาดังๆ
แต่เราพูดกับตัวเองอยู่ในใจเสมอๆ เกือบตลอดเวลา

การสนทนากับตัวเองในสมองของเราจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ
เหมือนกับเทปที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

และบ่อยครั้งที่การสนทนาในสมองของเรานั้นเป็นไปในทางลบ
ซึ่งเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยที่เราไม่ทราบว่าการสนทนานั้นส่งผลลบอย่างไรไปสู่ร่างกาย
จิตใจ และการกระทำต่างๆ ของคนเราบ้าง

เราควรระลึกอยู่เสมอว่าจิตใต้สำนึก
ทำหน้าที่รับข้อมูลที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของคนเรา

โดยที่ไม่สามารถแยกแยะ ได้ว่าข้อมูลนั้นดีหรือไม่ดี,
เที่ยงตรงหรือไม่เที่ยงตรง, สร้างสรรค์หรือทำลายอย่างไร และข้อมูลต่างๆ
เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของคนเรา

เมื่อเราทราบเช่นนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้โดย
การเปลี่ยนข้อมูลในจิตใต้สำนึกของเราเองด้วยคำพูดของตัวเราเอง

แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยให้การใช้คำพูดด้านบวกกับตัวเอง (Auto-Suggestion) ได้ผลดียิ่งขึ้น


- เราจะต้องเชื่อมั่นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองได้
และเราสามารถสร้างความสำเร็จ, สุขภาพที่ดี, ความสุข
และความสงบของจิตใจได้จากการเปลี่ยนข้อมูลในจิตใต้สำนึกของตัวเราเอง

- เราจะฝึกนิสัยฟังคำสนทนาในสมองของตัวเราเองให้มากขึ้น
- เมื่อเราได้ยินคำสนทนาด้านลบในสมองของเรา
เช่น สอบตกแน่ๆ ไม่มีทักษะทางกีฬา, ความจำแย่, ฯลฯ
เราจะรีบขจัดคำสนทนาเหล่านี้ด้วยคำพูดในใจว่า "เลิกคิด"

- เราจะแทนที่คำสนทนาด้านลบด้วยคำสนทนาด้านบวก เช่น
ลบ : ผมทำไม่ได้แน่นอน
บวก : ผมจะต้องทำให้ได้

ลบ : ผมไม่มีความสามารถในเรื่องนี้เลย
บวก : ผมฝึกบ่อยๆ ผมจะต้องทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ลบ : ความจำผมแย่มาก
บวก : ผมจะฝึกความจำทุกวัน และความจำผมจะต้องดีขึ้นแน่นอน

ลบ : ทักษะทางภาษาของผมไม่มีเลย
บวก : ทุกคนสามารถเรียนรู้ภาษาต่างประเทศได้

ลบ : ทำไมผมจึงจะต้องเปลี่ยนวิธีใหม่
บวก : ผมจะเริ่มทดลองทำในวันพรุ่งนี้เลย

- ช่วงเวลาที่จิตใต้สำนึกรับข้อมูลใหม่ๆ ได้ดีที่สุด
คือ ช่วงเวลาที่เรามีคลื่นสมองต่ำมีความถี่ระหว่าง 9-13 รอบต่อวินาที
หรือที่เรียกว่า สภาวะอัลฟา

- เพื่อที่จิตใต้สำนึกจะบันทึกข้อมูลใหม่ได้ง่ายขึ้น
ควรเลือกประโยคคำพูดด้านบวกเพียงประโยคเดียวแล้วพูดซ้ำๆ 5-10 รอบ

ในการพูดด้านบวกกับตัวเองแต่ละครั้ง วันหนึ่งควรทำ 2 ครั้ง
ในสภาวะที่คลื่นสมองต่ำๆ อาจจะเป็นช่วงก่อนนอนหรือเพิ่งตื่นนอน

ระยะแรกๆ เราอาจจะไม่เห็นผลดีชัดเจน
แต่ถ้าเราทำต่อเนื่องกันไปอย่างสม่ำเสมอประมาณ 21 วันผลดีต่างๆ จะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น เช่น

มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น, รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น,
มีความรู้สึกดีๆ ให้กับคนรอบข้างมากขึ้น, เรียนหนังสือดีขึ้น ฯลฯ

หลัง 21 วันแล้ว อาจจะพูดกับตัวเองด้วยประโยคเดิม
หรือ เลือกประโยคใหม่ที่จะใช้พูดกับตัวเอง

  ตัวอย่างประโยคคำพดด้านบวกกับตัวเองต่างๆ สำหรับเด็กๆ
.... เป็นคนที่รูปร่างดี
.... เป็นคนที่เล่นกีฬาเก่ง
.... เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น
.... เป็นคนที่เพื่อนๆ รัก
  ตัวอย่างคำพูดด้านบวกต่างๆ สำหรับผู้ใหญ่
"ยิ่งฉันมีอายุมากขึ้น ฉันยิ่งแข็งแรงขึ้น มีเสน่ห์มากขึ้น เก่งขึ้นในทุกๆ ด้าน"
.... เป็นคนที่ยอดเยี่ยม
.... เป็นคนที่มีความสามารถ
.... เป็นคนที่มีเสน่ห์และน่ารัก
.... เป็นคนที่ชอบทำให้ตัวเอง และผู้อื่นมีความสุข
.... เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
.... เป็นคนที่แข็งแรง
.... เป็นคนที่อารมณ์ดี ใจเย็น
.... เป็นคนที่กล้าหาญและเข้มแข็ง
.... เป็นคนที่มีความรัก ให้กับตัวเอง และผู้อื่น
หลายๆ คนจะรู้สึกอึดอัด ขัดใจ รู้สึกว่ากำลังหลอกตัวเอง หรือโกหกตัวเอง
เมื่อจะต้องพูดด้านบวกกับตัวเอง(Auto-Suggestion)

หลายคนคิดว่าจะพูดสิ่งที่ดีๆ เหล่านี้กับตัวเองได้อย่างไร
ในเมื่อเรื่องที่จะพูดไม่ได้เป็นความจริง

เช่น ตัวเราเองคิดว่าตัวเราเป็นคนโง่
จะให้พูดว่าตัวเองเป็นคนฉลาดได้อย่างไร?

ถ้าเราพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว
เราคงต้องยอมรับคำสอนเกี่ยวกับความดีงามที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดของมนุษย์ว่า
"จิตเดิมแท้ของคนเรานั้นเป็นประภัสสรหรือดีงาม"

ซึ่งก็หมายความว่าคนเราไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับข้อมูลด้านลบในจิตใต้สำนึก
ส่วนข้อมูลด้านลบต่างๆ นั้น เราเพิ่งได้รับการบันทึกขึ้นมาในภายหลัง
(ไม่เก่ง โง่ เลว แย่ น่าเกลียด)

และจากการบันทึกข้อมูลด้านลบครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ในวัยเด็กจนโต
ทำให้เราเริ่มเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองจริงๆ

เราลองมาพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้กันดูดีกว่า
ลองถามกลุ่มผู้ใหญ่ ด้วยคำถามด้านบวกต่างๆ

เช่น ใครคิดว่าตัวเองเป็นคนเก่งบ้างครับ,
ใครคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ยอดเยี่ยมบ้างครับ,
ใครคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีเสน่ห์และน่ารักบ้างครับ?

คำตอบที่ได้ก็คือ ส่วนใหญ่จะไม่มีใครยกมือตอบว่าใช่
ในทางกลับกันถ้าถามเด็กๆ ที่เพิ่งรู้ความด้วยคำถามทำนองเดียวกัน
จะชูมือสลอนและแทบทุกคนจะตอบว่าใช่

เราเริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า การพูดด้านบวกกับตัวเอง (Auto-Suggestion)
ไม่ได้เป็นการหลอกตัวเองหรือโกหกตัวเองเลยแม้แต่น้อย

แต่เป็นการพูดความจริงที่เราอาจจะรู้สึกอึดอัดใจ ในระยะแรกๆ
เนื่องจากข้อมูลในจิตใต้สำนึกต่างๆ ที่เราได้รับมาแต่เล็กแต่น้อยนั้น
ส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ

(ยิ่งเรามีข้อมูลด้านลบในจิตใต้สำนึกมากเท่าใด
เราก็จะรู้สึกอึดอัดที่จะพูดดีๆ กับตัวเองมากเท่านั้น
บางคนมีข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับตนเองในจิตใต้สำนึกมาก
จนไม่สามารถพูดดีๆ กับตัวเองได้ หรือทนรับฟังคำพูดดีๆ จากคนรอบข้างได้เลย)

ซึ่งตรงกันข้ามกับคำพูดดีๆ ที่เรากำลังพูดอยู่กับตัวเอง
เราควรพึงระลึกถึงสัจจะหรือความจริงของชีวิต
ที่นักปราชญ์ตะวันออกพร่ำสอนมาเป็นเวลาหลายๆ พันปี อยู่เสมอว่า

คนเราทุกคนมีจิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสรหรือดีงาม
ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกด้านลบต่างๆ
เช่น โง่ เลว แย่ น่าเกลียด ซื่อบื้อ ไม่เก่ง ฯลฯ

แต่ความรู้สึกด้านลบต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาในภายหลัง
หลังจากที่ได้รับข้อมูลด้านลบต่างๆ จากคนรอบข้าง

และข้อมูลด้านลบต่างๆ นี้ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรู้สึกด้านลบต่างๆ
ที่บันทึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนเราโดยที่เราเองอาจจะไม่รู้สึกตัว
(บางคนได้รับข้อมูลด้านลบต่างๆ ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งห้า ตั้งแต่ในวัยแบเบาะ)

ถ้าเราพูดดีๆ กับตัวเองเสมอๆ ทุกวัน แม้จะต้องฝืนหรืออึดอัดใจบ้างในระยะแรกๆ
ความรู้สึกฝืนใจหรืออึดอัดใจที่มักจะเกิดขึ้นในระยะแรกๆ ของการพูดดีๆ กับตัวเองนี้
จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ความสบายใจ สุขใจ จะค่อยๆ เข้ามาแทนที่

ในไม่ช้าข้อมูลใหม่ๆ ด้านบวกนี้จะเข้าไปแทนที่ข้อมูลด้านลบในจิตใต้สำนึกของเรา
ซึ่งจะทำให้เรามีความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น

Cr : pattanakit.net

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น